ศูนย์รวม ซื้อขายข่าวสาร ecosystemและfullfillment อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงามครบวงจร

 

เปิดกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ที่สายบิวตี้ควรรู้


 เปิดกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ที่สายบิวตี้ควรรู้


การดูแลสภาพรักษาสภาพผิว แทบเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคสมัยที่ปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผิวเสื่อมโทรมลง ทั้งมลภาวะจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทั้งค่ารังสียูวีที่อยู่ในระดับสูง หนำซ้ำกากใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้เกิดสิวได้ (Maskne) หลายคนอาจเลือกแก้ปัญหาหรือฟื้นฟูสภาพผิวจากการทำหัตถการโดยแพทย์ แต่หลายคนก็อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวเพื่อฟื้นฟูสภาพผิว เสริมเกราะป้องกันผิว ลดรอยดำรอยแดง หรือแม้แต่ปรับสภาพผิวให้กระจ่างใสขึ้น

 
ในท้องตลาดเองก็มีผลิตภัณฑ์หลายแบรนด์หลายระดับราคาที่จำหน่ายให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ มีส่วนผสมและคำเคลมของแบรนด์ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อน่ากังวลสำหรับการใช้เครื่องสำอาง คือ เรื่องความปลอดภัย เนื่องจากการใช้เครื่องสำอางอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ โดยเหตุนี้ พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 (พ.ร.บ.เครื่องสำอาง) จึงกำหนดหลายมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ใช้เครื่องสำอางเอาไว้หลายประเด็น ชวนดูกันว่ามีข้อกฎหมายใดเกี่ยวกับเครื่องสำอางเรื่องใดบ้าง ที่ผู้ใช้เครื่องสำอางควรรู้
 
 
 
เช็คลิสต์ด่านแรก ต้องผ่านการจดแจ้งอย. ขายเครื่องสำอางไม่มีอย.มีโทษจำคุกหรือปรับ
 
 
 
 
 
 
ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการใช้เครื่องสำอางไว้เป็นการเฉพาะมาตรการสำคัญคือ “การจดแจ้งเครื่องสำอาง” ตามมาตรา 14 กำหนดให้เวลาก่อนที่เครื่องสำอางจะวางจำหน่ายในท้องตลาด ผู้จะผลิตหรือผู้จะนำเข้าเครื่องสำอางมาเพื่อขาย ต้องจดแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางนั้นต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน เมื่อได้รับอนุญาต หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ผ่านอย.” แล้ว จึงจะสามารถผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางนั้นเพื่อขายได้ นอกจากนี้ในมาตรา 32 ยังกำหนดหน้าที่ผู้ขายว่า ห้ามขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้งอย.อีกด้วย
 
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าเครื่องสำอางทุกตัวจะสามารถผ่านอย. ได้ง่ายๆ เพราะในมาตรา 17 กำหนดหน้าที่แก่เลขาธิการอย.ให้มีคำสั่งไม่รับจดแจ้งเครื่องสำอางหากปรากฏว่าเครื่องสำอางนั้นมีลักษณะ ดังนี้
 
1) เครื่องสำอางไม่ปลอดภัยในการใช้ กล่าวคือ เป็นเครื่องสำอางที่ผลิตหรือใช้ภาชนะบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้, มีสารสลายตัวรวมอยู่ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้, มีสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เจือปนอยู่ หรือมีวัตถุที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
 
2) ชื่อเครื่องสำอาง ห้ามใช้ชื่อในทำนองโอ้อวด ไม่สุภาพ ทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริง หรือเป็นชื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทยหรือทำลายคุณค่าของภาษาไทย
 
มาตรการจดแจ้งเครื่องสำอาง เปรียบเสมือนประตูด่านแรกในการเข้าไปตรวจสอบและคัดกรองเครื่องสำอางก่อนจะปล่อยให้เครื่องสำอางนั้น ๆ ตกไปอยู่ในมือของผู้บริโภค เพราะเครื่องสำอางที่จะสามารถวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้ต้องมีอย. เพื่อเป็นหลักประกันในเบื้องต้นว่าผู้ใช้เครื่องสำอางสามารถใช้เครื่องสำอางได้อย่างปลอดภัย
 
แม้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะได้รับอนุญาตจดแจ้งเครื่องสำอาง แต่ก็อาจถูกเพิกถอนใบรับจดแจ้งในภายหลังได้ ถ้าหากเครื่องสำอางนั้นเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้นั่นเองหรืออาจเป็นกรณีเครื่องสำอางนั้นเป็นเครื่องสำอางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย
 
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ยังกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอางที่ฝ่าฝืนหน้าที่ไว้ด้วย กรณีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องสำอางเพื่อขาย ไม่ได้จดแจ้งรายละเอียดเครื่องสำอางหรือไม่ได้รับใบจดแจ้งจากอย. มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 62)  กรณีผู้ที่ขายเครื่องสำอางโดยที่เครื่องสำอางนั้นไม่ผ่านอย. มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หากผู้ที่ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีอย.นั้นเป็นผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องสำอางเพื่อขาย หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอาง มีโทษจำคุกไม่เกินสองเดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 78)
 
 
 
เช็คด่านสอง ดูฉลาก ส่องส่วนผสมผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจ
 
 
 
 
 
 
ต่อจากด่านแรกที่ต้องเช็คว่าเครื่องสำอางนั้นมีอย. หรือไม่ สิ่งถัดมาที่ผู้ใช้เครื่องสำอางต้องเช็คคงหนีไม่พ้นฉลากบนบรรจุภัณฑ์รวมไปถึงฉลากส่วนผสมเพื่อที่จะได้เลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่ต้องโจทย์กับสภาพผิวหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง
 
ในเบื้องต้น พ.ร.บ.เครื่องสำอาง มาตรา 22 กำหนดลักษณะของฉลากที่ผู้ผลิตเครื่องสำอางเพื่อขาย ผู้นำเข้าเครื่องสำอางเพื่อขาย และผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางต้องจัดทำไว้ว่าต้องจัดทำฉลากให้มีลักษณะดังต่อไปนี้
 
1. ใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริง ไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของเครื่องสำอาง และไม่ใช้ข้อความที่ขัดต่อศีลธรรมหรือวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
 
2. ใช้ข้อความภาษาไทย และมีขนาดที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้อาจมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้
 
3. ต้องระบุชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตเครื่องสำอาง แต่หากเป็นการนำเข้าเครื่องสำอาง ต้องระบุชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต, ปริมาณ วิธีใช้ ข้อแนะนำ คำเตือน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต และชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต, ข้อความอื่นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคตามที่คณะกรรมการเครื่องสำอางกำหนด
 
ในรายละเอียด คณะกรรมการเครื่องสำอางได้กำหนดลักษณะของฉลากในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่องฉลากของเครื่องสำอาง พ.ศ.2562 โดยฉลากที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอาง ต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
1. ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้าของเครื่องสำอางต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น
 
2. ต้องระบุประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง
 
3. ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตต้องเป็นชื่อตามตำราที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด โดยแสดงเป็นชื่อ INCI Name (International Nomenclature of Cosmetic Ingredients) ส่วนสีที่ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางให้แสดงเป็น CI No. (Color Index Number) หรือในกรณีที่ไม่มี CI No. สามารถแสดงเป็นชื่อสีได้
 
4. แสดงชื่อของสารที่มีความเข้มข้นมากกว่าร้อยละ 1 เรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อยก่อน แล้วตามด้วยสีที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ส่วนสารที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าร้อยละ 1 ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย
 
5. กรณีที่มีการใช้สารอนุภาค nano เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ให้ระบุข้อความ “(nano)” ต่อท้ายชื่อสาร
 
6. เครื่องสำอางที่มีวันหมดอายุน้อยกว่า 30 เดือนนับจากวันที่ผลิต ต้องแสดงวันหมดอายุที่ฉลากของเครื่องสำอางทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนเครื่องสำอางที่มีวันหมดอายุมากกว่า 30 เดือนนับจากวันที่ผลิตจะแสดงวันหมดอายุหรือไม่ก็ได้
 
7. เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ Hydrogen peroxide, เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดที่มีส่วนผสมของ Avobenzone ต้องแสดงวันหมดอายุที่ฉลากของเครื่องสำอาง ไม่ว่าเครื่องสำอางนั้นจะมีอายุการใช้น้อยกว่าหรือมากกว่า 30 เดือนนับจากวันผลิตก็ตาม
 
8. แสดงเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางเป็นเลข 10 หลัก หรือ 13 หลัก ตามที่ได้จดแจ้งไว้
 
นอกจากนี้คณะกรรมการเครื่องสำอางยังได้ออกประกาศเกี่ยวกับคำเตือนเกี่ยวกับการใช้เครื่องสำอางซึ่งต้องแสดงไว้บนฉลากเครื่องสำอางอีกด้วย โดยออกประกาศแยกไปตามชนิดของเครื่องสำอาง เช่น คำเตือนเกี่ยวกับการใช้เครื่องสำอางที่มีวัตถุกันเสีย คำเตือนเกี่ยวกับการใช้เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด คำเตือนเกี่ยวกับการใช้เครื่องสำอางย้อมผิวให้เป็นสีแทน
 
 
 
 
 
 
กรณีของครีมกันแดดซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่ต้องใช้ในรูทีนประจำวันนั้น คณะกรรมการเครื่องสำอาง ได้ออกประกาศ เรื่อง การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด ของเครื่องสําอางที่มีสารป้องกันแสงแดด พ.ศ. 2560 กำหนดรายละเอียดเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ สรุปได้ดังนี้
 
๐ การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ค่า SPF” (Sun Protection Factor) ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีค่า SPF ต่ำกว่า 50 ก็ต้องระบุค่า SPF ไว้ตามจริง แต่ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีค่า SPF สูง ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป สามารถแสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ หรือแสดงเป็น SPF 50+ ดังนั้น บรรดาครีมกันแดดที่วางขายในท้องตลาดและมีระบุบนฉลากว่า SPF 50+ บางตัวก็อาจจะมีค่า SPF สูงกว่า 50 มาก หรือบางตัวอาจจะอยู่ที่ 50 ซึ่งผู้บริโภคก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานของตนเอง
 
กรณีที่ครีมกันแดดนั้นไม่มีการทดลอง หรือผลการทดสอบแล้วได้ค่า SPF ต่ำกว่า 6 ประกาศฉบับนี้กำหนดห้ามไม่ให้แสดงคำว่า “SPF” หรือแสดงข้อความใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด ดังนั้น ครีมกันแดดตัวไหนที่ฉลากไม่ได้ระบุค่า SPF ไว้ ก็รู้ได้เลยว่ามีความสามารถในการกันแดดต่ำกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้มากหรือไม่ได้ทดลอง
 
๐ การแสดงค่าความสามารถในการป้องกันการดําคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีเอ (UVAPF) ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปแบบของการแสดงค่า “PA” ยิ่งเครื่องหมายบวก (+) ที่อยู่หลัง PA มีจำนวนหลายตัว ยิ่งสะท้อนระดับของประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA ที่สูง ถ้าระดับประสิทธิภาพต่ำ ตั้งแต่ 2 แต่ไม่ถึง 4 จะแสดงค่าเป็น PA+ ถ้าประสิทธิภาพระดับกลาง ตั้งแต่ 4 แต่ไม่ถึง 8 จะแสดงค่าเป็น PA++ ถ้าระดับประสิทธิภาพสูง ตั้งแต่ 8 ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 16 จะแสดงเป็น PA+++ แต่ถ้าค่าป้องกัน UVA อยู่ในระดับสูงมาก ตั้งแต่ 16 ขึ้นไป จะเป็น PA++++
 
๐ การแสดงความสามารถในการกันน้ำ กรณีครีมกันแดดที่ผ่านการทดสอบกันน้ำรวมทั้งสิ้นได้ที่ 40 นาที สามารถแสดงค่าความสามารถในการกันน้ำได้ว่า “Water resistance” แต่ถ้าทดสอบกันน้ำได้ถึง 80 นาที ก็สามารถระบุบนฉลากได้ว่า “Very water resistance”
 
เนื่องจากการสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ระบุบนฉลากล้วนเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นหลักประกันสิทธิของผู้บริโภคอย่างหนึ่ง พ.ร.บ. เครื่องสำอาง จึงกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไว้ด้วย โดยแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ดังนี้
 
1. บทกำหนดโทษแก่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอาง
 
- กรณีบุคคลดังกล่าวไม่จัดทำฉลากเครื่องสำอาง หรือจัดทำฉลากเครื่องสำอาง แต่ฉลากนั้นมีข้อความที่ไม่ตรงต่อความจริง หรือมีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือมีข้อความที่ขัดต่อศีลธรรมหรือวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 67 วรรคหนึ่ง)
 
- กรณีบุคคลดังกล่าวจัดทำฉลากเครื่องสำอาง แต่ฉลากนั้นไม่ได้มีลักษณะตามที่พ.ร.บ.เครื่องสำอาง มาตรา 22 วรรค 2 (2) และ (3) กำหนดไว้ เช่น ไม่ได้ใช้ข้อความภาษาไทย ไม่ได้ระบุชื่อเครื่องสำอาง ไม่ได้ระบุเดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุ บุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 68 วรรคหนึ่ง)
 
2. บทกำหนดโทษแก่ผู้ขายเครื่องสำอาง
 
- กรณีบุคคลดังกล่าวขายเครื่องสำอางที่ไม่จัดทำฉลาก หรือขายเครื่องสำอางที่จัดทำฉลากแต่ฉลากนั้นมีข้อความที่ไม่ตรงต่อความจริง หรือมีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือมีข้อความที่ขัดต่อศีลธรรมหรือวัฒนธรรมอันดีงามของไทย บุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตาม (มาตรา 67 วรรค 2)
 
- กรณีบุคคลดังกล่าวขายเครื่องสำอางที่จัดทำฉลาก แต่ฉลากนั้นไม่ได้มีลักษณะตามที่พ.ร.บ.เครื่องสำอาง มาตรา 22 วรรค 2 (2) และ (3) กำหนดไว้ เช่นไม่ได้ใช้ข้อความภาษาไทย ไม่ได้ระบุชื่อเครื่องสำอาง ไม่ได้ระบุเดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุ บุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 68 วรรค 2)
 
 
 
เช็คด่านสาม โฆษณาเครื่องสำอางต้องไม่ “โอเวอร์” เกินจริง
 
 
 
 
 
 
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง มาตรา 41 และมาตรา 42 กำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคหรือผู้ใช้เครื่องสำอางจากการโฆษณาเครื่องสำอาง ให้การโฆษณาเครื่องสำอางต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมหรือข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม และวิธีการโฆษณาเครื่องสำอางก็ต้องไม่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้เครื่องสำอาง
 
ตัวอย่างการโฆษณาเครื่องสำอางที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น
 
- ใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
 
- ใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม
 
- ใช้ข้อความที่แสดงสรรพคุณที่เป็นการรักษาโรคหรือที่มิใช่จุดมุ่งหมายเป็นเครื่องสำอาง เช่น ข้อความที่บอกว่าเครื่องสำอางนั้นสามารถป้องกันการอักเสบของสิว บรรเทาอาการระคายเคือง ลดอาการอักเสบจากโรคเหงือก
 
- ใช้ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม เช่นข้อความที่บอกว่าเครื่องสำอางนั้นช่วยให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวมีชีวิตชีวา เพิ่มระยะเวลาในการแข็งตัว ช่วยให้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้นานขึ้นในแต่ละครั้ง
 
- ใช้ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมหรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
 
- การโฆษณาโดยสื่อความหมายว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองคุณภาพจากอย. หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น ระบุว่าผลิตภัณฑ์ช่วยแก้ทุกปัญหาผิว ผ่านการรับรองจากอย. ซึ่งการระบุเช่นนี้อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าอย. เข้าไปรับรอง “เชิงคุณภาพ” ของผลิตภัณฑ์ ทั้งๆ ที่อย. มีส่วนเกี่ยวข้องแค่ในขั้นตอนการจดแจ้งเครื่องสำอาง (ที่มีเลขาธิการอย. เป็นผู้รับจดแจ้ง) หากเครื่องสำอางนั้นไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือชื่อไม่เหมาะสม ก็จะไม่รับจดแจ้ง แต่ไม่ได้ดูไปถึงคุณภาพของสินค้านั้นๆ
 
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแต่ละประเภท ก็มีแนวทางในการใช้คำโฆษณาที่แตกต่างกันออกไปในรายละเอียด เช่น เครื่องสำอางกลุ่มไวท์เทนนิ่ง ก็ควรเลี่ยงการใช้คำโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์สามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำให้สีผิวขาวขึ้นมากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ในคู่มือการโฆษณาเครื่องสำอางของอย.
 
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ยังได้กำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคหรือผู้ใช้เครื่องสำอางจากการโฆษณาในเชิงแก้ไขไว้อีกด้วย โดยให้อำนาจแก่เลขาธิการอย. สามารถออกคำสั่งให้ผู้โฆษณาแก้ไขข้อความหรือวิธีการโฆษณา ให้โฆษณาแก้ไขความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้เครื่องสำอาง หรื
แสดงความคิดเห็น

Copyright © 2018 Bcooffice . All rights reserved

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา